ข้าวก่ำพะเยา มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง


          แพทย์ มช. คิดค้นงานวิจัยเบื้องต้นของข้าวก่ำ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ข้าวก่ำน่าน พะเยา และดอยสะเก็ด เพื่อประเมินฤทธิ์ความเป็นพิษในสารสกัดจากข้าวก่ำ รวมทั้งศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดข้าวก่ำเมื่อใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด ป้องกันและรักษาโรคมะเร็งในอนาคต

          รศ.ดร.พญ.รัตนา บรรเจิดพงศ์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการรายงานถึง สารสกัดจากข้าวก่ำมีฤทธิ์ในการช่วยการทำหน้าที่ของไต ภาวะซีด เบาหวาน หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินของโลหิต ช่วยในเรื่องที่เกี่ยวกับสายตา หรือทางแพทย์แผนจีน แต่ผลของข้าวก่ำในเรื่องของโรคมะเร็ง ยังไม่มีใครศึกษา จึงได้รวมกลุ่มกันในภาควิชาโดย ผศ.ดร.ธีระ ชีโวนรินทร์ เป็นหัวหน้ากลุ่มในงานวิจัย และได้รับทุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ในการทำงานวิจัยชิ้นนี้

          เริ่มจากการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดข้าวก่ำ (ข้าวเหนียวดำ) โดยใช้สารสกัด 2 อย่าง คือเมธานอลกับไดคลอโรมีเทน ของข้าวก่ำ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวก่ำน่าน พะเยา และดอยสะเก็ด โดยใช้ข้าวขาว กข 6 เป็นกลุ่มควบคุมทำการทดสอบเปรียบเทียบและดูฤทธิ์ของการต้านมะเร็ง

          โดยที่ศึกษาในเซลล์มะเร็งตับ และเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากของมนุษย์ ซึ่งเป็นการทดสอบในหลอดทดลอง เทียบกับเซลล์ปกติคือเซลล์สร้างเส้นใยที่มาจากในหนู ทำการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดว่าเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหรือไม่ ในแง่ของการต้านหรือฆ่าเซลล์มะเร็ง จึงเป็นที่มาของการศึกษาการใช้ต้นแบบเซลล์มะเร็ง 2 ชนิด

          โดยใช้สารสกัด 2 อย่าง ได้แก่ เมธานอลกับไดคลอโรมีเทน และเมื่อเทียบกับเซลล์ปกติ ผลปรากฏว่าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ทำลายหรือฆ่าเซลล์ปกติ สารสกัดออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะ แต่มีผลกับเซลล์มะเร็งตับมากกว่าเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก และสารสกัดเมธานอลของข้าวก่ำพะเยามีฤทธิ์สูงสุด และเมื่อความเข้มข้นของสารสกัดเมธานอลข้าวก่ำพะเยาเพิ่มขึ้น เซลล์มะเร็งตับก็ตายเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจึงศึกษาต่อในเซลล์มะเร็งของตับมนุษย์ โดยปกติการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่มีการกระจายมักจะใช้ยาเคมีบำบัด ซึ่งพบว่ามีผลข้างเคียงมาก อาทิ ผมร่วง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด


          ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น